Last updated: 5 มี.ค. 2566 | 62 จำนวนผู้เข้าชม |
ถ้าไปทะเลแล้วไม่ได้ลิ้มลอง ‘อาหารทะเล’ สักมื้อ หรือไม่ซื้อของฝากจากทะเลติดไม้ติดมือกลับไป ก็คงกล่าวได้ว่าเรามาไม่ถึงที่ จะมีที่ไหนขายอาหารทะเลสดได้เท่าร้านอาหารชายฝั่งทะเล กุ้งย่างหอม ๆ บนเตาถ่าน หรือนำไปแช่น้ำปลาก็แซ่บ หอยลวกจิ้มแซ่บ ๆ ปูไข่ดองกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด หรือจะเอาสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นยำทะเลสุดฮิตก็น่ากิน
‘อาหารทะเล’ ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน เพราะเรามีพื้นที่ที่ติดกับทะเลทำให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างง่ายดาย
แต่การบริโภคสัตว์ทะเลบางชนิดกลับกำลังสร้างผลกระทบอย่างเงียบๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็ง เหมือนโรคร้ายที่แอบซ่อนอยู่ และเมื่อถึงวันที่มันพังทลาย กว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินไป
ปลาข้าวสาร หรือปลาที่เรารู้จักกันในชื่อ ปลามะลิ ปลาสายไหม ปลากล้วยฯ ตามแต่ละท้องถิ่นจะเรียก และมักถูกบอกว่าเป็นพันธุ์ปลาขนาดเล็ก ด้วยความที่ตัวเล็กๆ ใสๆ กองรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก คนทั่วไปจึงเรียกว่าปลาข้าวสาร แต่ในความจริงแล้ว ปลาข้าวสาร คือตัวอ่อนของปลากะตักนั่นเอง ปลากะตักเป็นอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่จับปลากะตัก (ปลาข้าวสาร) มากิน ย่อมส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารในท้องทะเลอย่างแน่นอน
ปลาทูแก้ว ลูกปลาทูตากแห้ง ตัวเล็กโรยด้วยงาดูน่ากิน ของฝากยอดฮิต ที่อัดแน่นไปด้วยจำนวนลูกปลาทูหลายพันตัว หากปล่อยให้ลูกปลาทูได้เติบโต จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล
หรือแม้กระทั่งปูตัวเล็ก ๆ ที่เราเห็นในส้มตำเองก็เช่นกัน ซึ่งตัวที่น่าหม่ำขนาดกระดอง (ความกว้าง) ควรเกิน 12 เซนติเมตรขึ้นไป และยังมีสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกมากมายที่จับขึ้นมาก่อนถึงเวลาอันควร และยังไม่รวมถึงการบริโภคสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่
การรับประทานสัตว์น้ำวัยอ่อน เท่ากับตัดโอกาสที่พวกมันจะเติบโตมาเป็นอาหารให้แก่สัตว์อีกหลายชนิด ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย เพราะเมื่อจำนวนสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลง ผู้บริโภคลำดับถัดไปก็จะลดลงตามไปด้วยเป็นห่วงโซ่ เท่ากับว่าเรากำลังทำลายฐานรากของระบบนิเวศทางทะเล การที่ชื่อเรียกสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำขนาดโตเต็มวัยแตกต่างกัน เราคงไม่อาจบอกให้หยุดซื้อได้ในทันที (แต่ถ้าทำได้ก็ถือว่าดีมาก) ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นสัตว์คนละชนิดกัน ดังนั้นการรู้ถึงที่มาที่ไปของอาหารทะเลนั้น มีส่วนช่วยให้เราสามารถเลือกการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ สนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนและไม่ทำลายระบบนิเวศ แม้กระทั่งการลดการบริโภคลง เพราะการบริโภคเพียงเล็กๆ สามารถส่งผลได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”
5 มี.ค. 2566